กรกฎาคม 11, 2018

Frequently Asked Questions (FAQ)

เมื่ออบรมจริยธรรมการวิจัยทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ตามประกาศจริยธรรมการวิจัย (Research integrity) พ.ศ. 2564 ครบแล้ว จะมีประโยชน์อย่างไร และต้องนำหลักฐานการอบรมไปยื่นที่ไหน

ตอบ ตามที่นโยบายจริยธรรมการวิจัยฯ กำหนดให้ใบรับรองการผ่านการฝึกอบรมให้ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน การพิจารณาต่อสัญญาจ้าง การเลื่อนระดับ และการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งนี้ข้อมูลการผ่านการฝึกอบรมจะถูกส่งให้สำนักงานพัฒนาทรัพยากรบุคคลทราบต่อไป

การอบรมจริยธรรมการวิจัยทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ตามประกาศจริยธรรมการวิจัย (Research integrity) พ.ศ. 2564 จะต้องอบรมที่ไหน อบรมหลักสูตรใด

ตอบ การอบรมจริยธรรมการวิจัยเชิงทฤษฎีสามารถอบรมหลักสูตร Responsible conduct of research ผ่าน CITI Program ส่วนการอบรมเชิงปฏิบัติสามารถเข้าร่วมการอบรมได้ตามรอบที่ สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร จัดรายละเอียดเพิ่มเติม https://bit.ly/3yAL9mJ

กรณีที่โครงการวิจัยมีบุคลากรจากหน่วยงานภายนอก เป็นผู้ร่วมโครงการ บุคคลเหล่านั้นต้องเข้ารับการอบรมจริยธรรมการวิจัยตามประกาศจริยธรรมการวิจัย (Research integrity) พ.ศ. 2564 หรือไม่

ตอบ นโยบายจริยธรรมการวิจัยครอบคลุมบุคลากรทุกคนในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ดังนั้นหากบุคลากรดังกล่าวทำงานวิจัยภายใต้ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยจะต้องเข้าร่วมการฝึกอบรม ทั้งนี้หากเป็นรูปแบบของการทำวิจัยร่วมกันนักวิจัยดังกล่าวจะไม่อยู่ในขอบข่ายตามนโยบายฯ

กรณีโครงการมีการจ้างผู้ช่วยนักวิจัย มาช่วยทำวิจัยหรือเก็บข้อมูลระยะสั้น 3 เดือน หรือ 6 เดือน จำเป็นต้องให้เข้าอบรมจริยธรรมการวิจัย RI ตามประกาศหรือไม่ และถ้าต้องอบรมควรอบรมในหลักสูตรใด

ตอบ ตามประกาศนโยบายฯ ครอบคลุมถึงบุคลากรในความรับผิดชอบของ มจธ. ดังนั้นบุคลากรดังกล่าวจึงควรเข้าร่วมการฝึกอบรม ทั้งนี้ตามข้อ 19(2) ของนโยบายฯ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้รับผิดชอบ และเนื่องจากเป็นผู้ที่ดำเนินการวิจัยโดยตรงจึงต้องอบรมหลักสูตร Responsible Conduct of Research for Researcher ทั้งนี้หากเป็นการวิจัยระยะสั้นไม่เกิน 3 เดือนให้ขึ้นกับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา หากทำวิจัยตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป (ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ตาม) จะต้องเข้ารับการอบรม ทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยแต่ไม่ได้ปฏิบัติงานวิจัยโดยตรง ตามประกาศจริยธรรมการวิจัย (Research integrity) พ.ศ. 2564 คือใคร? และต้องอบรมอะไรบ้าง

ตอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการผ่อนผันการบังคับใช้จนกว่าจะระบุผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยได้ชัดเจน

ผู้วิจัย ตามประกาศจริยธรรมการวิจัย (Research integrity) พ.ศ. 2564 คือใคร? และต้องอบรมอะไรบ้าง

ตอบ หมายถึงผู้ที่ดำเนินการวิจัยโดยตรง เช่น อาจารย์ นักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย จะต้องเข้าร่วมการอบรมเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิติตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

หากใช้ Human Cell line ในการดำเนินการวิจัย ต้องขอประเมิน IRB หรือไม่

ตอบ การใช้ Human cell line เข้าข่ายการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ Human cell line นั้นมีที่มาอย่างไร 

        – กรณีที่ 1 เป็น Human cell line ที่ซื้อจากบริษัทที่เพาะเลี้ยงและจำหน่ายเป็นการค้า (บริษัทได้ลบข้อมูลบุคคล และทำการเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวน มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนไม่สามารถสืบย้อนหาต้นต่อได้อีกต่อไป) เช่นนี้เซลล์เหล่านี้จัดเป็นวัสดุชีวภาพ จึงไม่เข้าข่ายการวิจัยในมนุษย์ ไม่ต้องขอประเมิน IRB (แต่ต้องขอการรับรองจากคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ)

        – กรณีที่ 2 เป็น Human cell line ที่ได้มาจากผู้วิจัยเก็บตัวอย่างจากอาสาสมัครหรือคนไข้ด้วยตนเองหรือให้ผู้ร่วมวิจัย หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเก็บให้ หรือเป็นของเหลือจากการบำบัดรักษาแต่ถูกนำมาใช้ในการวิจัย เซลล์เหล่านี้เป็น first hand sample ที่เก็บมาเพื่อใช้ในการวิจัยนี้ การจะเก็บตัวอย่างเหล่านี้ได้ต้องมีการขอการยินยอมจากอาสาสมัครก่อนเก็บตัวอย่าง และถือเป็นการระบุตัวตนของอาสาสมัคร ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้เข้าข่ายการวิจัยในมนุษย์ ต้องขอประเมิน IRB (และต้องขอการรับรองจากคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพด้วยเช่นกัน)

        – กรณีที่ 3 เป็น Human cell line ที่ได้มาจากผู้วิจัยท่านอื่นเก็บตัวอย่างเพื่อใช้ในโครงการวิจัยอื่นๆ แต่ยังเหลืออยู่ (โดยโครงการนั้นผ่านการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และขอการยินยอมจากอาสาสมัครก่อนเก็บ-โดยเอกสารขอความยินยอมควรระบุว่าอาสาสมัครอนุญาตให้นำตัวอย่างไปในโครงการวิจัยอื่นๆได้ หากไม่มีข้อความดังกล่าว ให้ขึ้นกับดุลพินิจของกรรมการ IRB ของสถาบันต้นทางที่จะอนุญาตให้ใช้หรือไม่)
          เมื่อผู้วิจัยท่านนั้นส่งต่อ Human cell line ให้กับนักวิจัย มจธ. เพื่อทำวิจัยต่อในลักษณะของ secondary hand sample กรณีนี้ นักวิจัยจะต้องได้รับหนังสือการอนุญาตให้ใช้ตัวอย่างจากสถาบันต้นทางและโครงการวิจัยยังเข้าข่ายการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งต้องส่งเอกสารมาเพื่อประเมินกับ IRB เพราะยังสามารถสืบย้อนและรับทราบข้อมูลของบุคคลที่เป็นอาสาสมัคร รวมทั้งข้อมูลสุขภาพได้  (และต้องขอการรับรองจากคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพด้วยเช่นกัน)

สพสว.วช. ย่อมาจากอะไร

ตอบ  สถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

IACUC คืออะไร

ตอบ  IACUC ย่อมาจาก Institutional Animal Care and Use Committee คือ คณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถาบัน

ขั้นตอนการขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ทำอย่างไรบ้าง

ตอบ ผู้ใช้สัตว์ทดลอง สัตว์เลี้ยง หรือสัตว์จากธรรมชาติ ในงานวิจัย งานทดสอบ งานผลิตชีววัตถุ งานสอน และงานผลิตสัตว์ทดลอง ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ ต่อ สพสว.วช. โดย:

  1. เตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ

1.1 รูปถ่าย ขนาดไม่เกิน 2 นิ้ว 2 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน

1.2 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (รับรองสำเนาถูกต้อง)

1.3 ใบรับรองแพทย์ รับรองไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงและไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือสติฟั่นเฟือน (ไม่เกิน 1 เดือนก่อนวันขอยื่นรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ)

  1. เข้าระบบลงทะเบียนออนไลน์ (http://thaiiacuc.nrct.go.th) ผ่านทาง website: www.labanimals.net

2.1 เลือกเมนูระบบลงทะเบียนผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ

2.2 กรอกข้อมูลตามแบบคำขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ ให้ครบถ้วน

2.3 พิมพ์ (Print out) แบบคำขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ พร้อมลงนาม ติดรูปถ่าย และ

แนบเอกสารหลักฐานตามข้อ 1 (1.1-1.3) ให้ครบถ้วน

  1. ยื่นเอกสารที่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

สถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) อาคาร วช. 5

196 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โดย ยื่นด้วยตนเอง หรือ ส่งทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียน/แบบบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (Express Mail Service: EMS)

  1. รับไฟล์ใบรับคำขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ (ใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ ชั่วคราว) ที่ สพสว. วช. ได้ออกเลขที่ใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ ทางอีเมล์ของผู้ยื่นคำขอ

*** ใบรับคำขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ ฉบับจริง จะได้รับในวันอบรม

  1. ติดตามประกาศแจ้งกำหนดวันและสถานที่เข้ารับการอบรมผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ ทาง website: www.labanimals.net และ ทาง E-mail สำหรับผู้ลงทะเบียนในระบบแล้ว

ค่าลงทะเบียนในการอบรม 600 บาท

 

การยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อเข้ารับการประเมินโครงการวิจัยที่มีการเลี้ยงและใช้สัตว์ ทำอย่างไร

ตอบ
โครงการวิจัยที่มีการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ต้องยื่นประเมินโครงการวิจัยต่อ คณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (คกส.) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. กรอกแบบฟอร์ม แบบตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารในการยื่นขอประเมินการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (IACUC-01)
2. เตรียมเอกสาร หลักฐานในการยื่นขอประเมินโครงการวิจัยให้ครบถ้วน ดังนี้
2.1 แบบขออนุญาตเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (IACUC-01) จำนวน 1 ชุด
2.2 โครงการวิจัย/กิจกรรมฉบับสมบูรณ์ (Proposal/Thesis) จำนวน 1 ชุด
2.3 สำเนาใบอนุญาตใช้สัตว์ของหัวหน้าโครงการ จำนวน 1 ชุด
2.4 สำเนาใบอนุญาตใช้สัตว์ป่าคุ้มครอง/สัตว์ป่าสงวน ฯลฯ กรณีมีการวิจัยกับสัตว์ป่า
สัตว์ธรรมชาติ จำนวน 1 ชุด
2.5 สำเนาใบอนุญาตขอเข้าใช้พื้นที่ในการทำวิจัย กรณีที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ หรือ
ป่าสงวน จำนวน 1 ชุด
2.6 ใบรับรองการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองจากสถานที่เลี้ยงสัตว์ทดลอง กรณีที่ไม่ได้มีการเลี้ยงสัตว์เอง จำนวน 1 ชุด
2.7 แผ่นบันทึกข้อมูลโครงการวิจัยตามข้อมูลข้างต้น เป็น PDF และ Word (CD/DVD) จำนวน 1 ชุด
3. ส่งเอกสารทั้งหมดมาที่ สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร ชั้น 7 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)

หากไม่แน่ใจว่าโครงการวิจัยของท่านเข้าข่ายจริยธรรมการวิจัยด้านใดต้องทำอย่างไร

ทำแบบฟอร์ม RIPO 01 การประเมินโครงการวิจัยโดยหัวหน้าโครงการ (Project Self Assessments)

เพื่อช่วยตรวจสอบว่าโครงการวิจัยเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัย (IRB / IBC / IACUC )

งานวิจัยแบบใดเข้าข่ายจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์

  1. พิจารณาว่าเข้าข่ายการวิจัยหรือไม่?

“Your activity is a systematic investigation designed to develop or contribute to generalizable knowledge”

  1. พิจารณาว่ามีการวิจัยในมนุษย์หรือไม่?

“Communication or interpersonal contact between a member of the research team and the individual. Surveys,

whether in-person, web-based, mail, email, phone, etc., are an interaction between researchers and individuals”

– Private information

– Record (writing, video, email, voice recording, etc.)

– Intervention

การยื่นขอประเมินโครงการวิจัยที่เข้าข่ายจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ต้องยื่นเมื่อใด?

ต้องยื่นขอประเมินฯ และได้ใบรับรองการประเมินฯ ก่อนดำเนินโครงการวิจัย (เช่น ก่อนแจกแบบสอบถามใบแรกหรือก่อนสัมภาษณ์อาสาสมัครคนแรก)

นักวิจัยจะส่งเอกสารสำหรับยื่นขอประเมินโครงการวิจัยที่เข้าข่ายจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ได้ที่ไหน

ส่งเอกสารขอประเมินฯ ไปยังอีเมลผู้ประสานคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์  ประจำคณะ/สำนัก/สถาบัน

กรณีที่ไม่มีคณะอนุกรรมการฯ ให้ส่งเอกสารขอประเมินฯ มายัง คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มจธ. ผ่านระบบอีเมล ethics@mail.kmutt.ac.th

การอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แบ่งเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง

การอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มี 2 ประเภท ดังนี้

1. การอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท (อบรม 3 ชั่วโมง)

จะได้รับ ใบประกาศนียบัตรสำหรับนักศึกษา มีอายุ 2 ปี นับจากวันที่อบรม

2. การอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สำหรับอาจารย์/นักวิจัย/นักศึกษาระดับปริญญาเอก (อบรม 6 ชั่วโมง)

จะได้รับใบประกาศนียบัตรผ่านการอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สำหรับอาจารย์/นักวิจัย มีอายุ 2 ปี นับจากวันที่อบรม

อาจารย์ที่เข้าร่วมอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ รอบนักศึกษา (3 ชม.) จะได้รับใบประกาศนียบัตร หรือไม่?

1. ได้รับ ใบประกาศนียบัตร (สำหรับนักศึกษา) สามารถใช้ควบคุมวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาทั้งระดับตรี โท และเอก

2. หากอาจารย์มีความประสงค์จะขอใบประกาศนียบัตร สำหรับจะทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์

จะต้องเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 6 ชม. เพื่อขอรับใบประกาศนียบัตร สำหรับอาจารย์/นักวิจัย

3. ใบประกาศนียบัตร มีอายุ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่รับการอบรม

โครงการวิจัยของนักศึกษาจะส่งให้คณะกรรมการพิจารณาประเมินอย่างไร?

1. กรณีที่อาจารย์ที่ปรึกษาทำโครงการวิจัยโดยให้นักศึกษาทำโครงการวิจัยย่อย ให้อาจารย์ที่ปรึกษายื่นขอประเมินโครงการวิจัยใหญ่และนักศึกษาทั้งหมดเป็นผู้ร่วมวิจัย เสนอผ่านอนุกรรมการประจำคณะฯ

2. กรณีอาจารย์ที่ปรึกษาไม่มีโครงการวิจัย ให้อาจารย์ที่ปรึกษายื่นขอประเมินโครงการวิจัยของนักศึกษาเสนอผ่านอนุกรรมการประจำคณะฯ

หากไม่แน่ใจว่าต้องยื่นขอประเมินโครงการวิจัยที่เข้าข่ายจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ประเภทใด (Exemption Review หรือ Expedited Review หรือ Full Board) ต้องทำอย่างไร

ทำแบบฟอร์ม แบบตรวจสอบโครงการวิจัยที่เข้าข่ายการขอประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (IRB Checklist)

การยื่นขอประเมินโครงการวิจัยที่เข้าข่ายจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แบบยกเว้น (Exemption Review) ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

1. แบบตรวจสอบโครงการวิจัยที่เข้าข่ายการขอประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (IRB Checklist)

2. แบบเสนอโครงการวิจัยในมนุษย์เพื่อขอรับการประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แบบยกเว้น (IRB Form-01)

3. โครงการวิจัย/กิจกรรมฉบับสมบูรณ์ (Research Proposal)

4. ประกาศนียบัตรการอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ในสาขาที่ขอประเมินของผู้วิจัย (ทุกคน) และ/หรืออาจารย์ที่ปรึกษา (IRB Training Certificate)

5. รายละเอียดเครื่องมือ/อุปกรณ์ ที่ใช้ในการวิจัย (เช่น แบบสอบถาม ข้อคำถามการสัมภาษณ์ อื่นๆ ดูในคู่มือนักวิจัย) (Research Tools)

6. เอกสารการสอบผ่านเค้าโครง/โครงร่างการวิจัย/เค้าโครงวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์ (Evaluation of Thesis Project Proposal Examination)

การยื่นขอประเมินโครงการวิจัยที่เข้าข่ายจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แบบเร่งด่วน/เต็มรูปแบบ (Expedited/Full Board Review) ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

1. แบบตรวจสอบโครงการวิจัยที่เข้าข่ายการขอประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (IRB Checklist)

2. แบบเสนอโครงการวิจัยในมนุษย์เพื่อขอประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (IRB Form-02)

3. โครงการวิจัย/กิจกรรมฉบับสมบูรณ์ (Research Proposal)

4. ประวัติผู้วิจัยหลักและผู้ร่วมวิจัย (ถ้ามี)

5. ประกาศนียบัตรการอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ในสาขาที่ขอประเมินของผู้วิจัย (ทุกคน) และ/หรืออาจารย์ที่ปรึกษา (IRB Training Certificate)

6. รายละเอียดเครื่องมือ/อุปกรณ์ ที่ใช้ในการวิจัย (เช่น แบบสอบถาม ข้อคำถามการสัมภาษณ์ อื่นๆ ดูในคู่มือนักวิจัย) (Research Tools)

7.เอกสารชี้แจงและแสดงความยินยอมอาสาสมัคร (Participant Information Sheet, Informed Consent form)

8.เอกสารการสอบผ่านเค้าโครง/โครงร่างการวิจัย/เค้าโครงวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์ (Evaluation of Thesis Proposal Examination)

ใบรับรองการประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

มี 2 ประเภท ดังนี้

1. COE; Certificate of Exemption สำหรับโครงการวิจัยที่ขอประเมินประเภท Exemption Review

ระบุวันที่ออกเอกสารรับรองและวันที่หมดอายุเอกสารรับรอง โดยใบรับรองมีอายุจนสิ้นสุดโครงการวิจัย

2. COA; Certificate of Approval สำหรับโครงการวิจัยที่ขอประเมินประเภท Expedited Review และ Full Board)

ระบุวันที่ออกเอกสารรับรองและวันที่หมดอายุเอกสารรับรอง โดยใบรับรองมีอายุ 1 ปี

หากดำเนินโครงการวิจัยไม่เสร็จสิ้นต้องส่งรายงานความก้าวหน้าเพื่อขอต่ออายุใบรับรอง (IRB From-04)

ภายหลังได้รับการรับรองการประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แล้วมีการปรับเปลี่ยนงานวิจัย เช่น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ขั้นตอนการดำเนินการ จำนวนอาสาสมัคร ฯลฯ จะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการฯหรือไม่ และดำเนินการอย่างไร

จัดทำ IRB Form-03 (แบบฟอร์มการขอปรับเปลี่ยนโครงการวิจัยที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์) พร้อมทั้งแนบเอกสารในส่วนที่ได้ปรับเปลี่ยน ส่งมายังอีเมล ethics@mail.kmutt.ac.th และรอผลการประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จึงจะดำเนินการวิจัยต่อได้

หากดำเนินโครงการวิจัยเสร็จสิ้นแล้วจะต้องทำอย่างไร

จัดทำ IRB Form-04 (แบบฟอร์มรายงานความก้าวหน้าและแจ้งปิดโครงการวิจัยที่ขอประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์) เพื่อแจ้งปิดโครงการ แล้วส่งไฟล์ IRB Form-04 พร้อมกับไฟล์สรุปโครงการวิจัยหรือวิทยานิพนธ์หรือรายงานฉบับสมบูรณ์ เป็น PDF และ Word มายังอีเมล ethics@mail.kmutt.ac.th